ภาวะประจำเดือนขาด หรือประจำเดือนมาไม่ปกติ ถือเป็นปัญหาที่ผู้หญิงหลายๆคนประสบพบเจอบ่อยมาก แต่ก็มีหลายๆคนที่ไม่ได้รู้สึกถึงความผิดปกตินี้ เพราะอาจจะคิดว่าไม่น่ามีอันตรายอะไร แต่แท้จริงแล้วภาวะประจำเดือนขาดอาจบ่งบอกถึงโรคต่างๆที่อาจเกิดขึ้นภายในร่างกายโดยที่คุณไม่รู้ตัว บางคนอาจตั้งคำถาม ภาวะประจำเดือนขาดคืออะไร สาเหตุที่ทำให้เกิดคืออะไร บ่งบอกถึงโรคอะไรได้บ้าง แล้วมีวิธีรักษาอย่างไร
ประจำเดือนขาด
ภาวะขาดประจำเดือน (Amenorrhea) คือ ภาวะใดภาวะหนึ่งที่ทำให้ไม่มีเลือดประจำเดือนออกมาตามปกติ หากประจำเดือนขาดหายไป 3 เดือน จะเรียกว่า ภาวะขาดประจำเดือน แต่ถ้าประจำเดือนขาดไป 1-2 เดือนจะเรียกว่า ภาวะประจำเดือนมาช้ากว่าปกติ ซึ่งมักพบบ่อยในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ ภาวะขาดประจำเดือนตั้งแต่แรกสาว และภาวะขาดประจำเดือนที่เคยมีประจำเดือนและขาดหายไป
ประจำเดือนขาดแบ่งเป็น 2 ประเภท
ภาวะประจำเดือนขาดนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่
ประจำเดือนขาดแบบปฐมภูมิ
ภาวะขาดประจำเดือนปฐมภูมิ (Primary Amenorrhea) คือ ภาวะที่ไม่เคยมีประจำเดือนเมื่ออายุถึง 15 ปี วัยรุ่นผู้หญิงมักเริ่มมีรอบเดือนในช่วงอายุระหว่าง 9-18 ปี โดยทั่วไปแล้วมักเริ่มมีรอบเดือนเมื่ออายุ 12 ปี
ประจำเดือนขาดแบบทุติยภูมิ
ภาวะขาดประจำเดือนทุติยภูมิ (Secondary Amenorrhea) คือภาวะที่ประจำเดือนขาดไปอย่างน้อย 3 เดือน ภาวะขาดประจำเดือนทุติยภูมิถือเป็นภาวะขาดประจำเดือนที่พบได้บ่อย
ประจำเดือนขาด เกิดจากสาเหตุใด
1. การตั้งครรภ์
หากประจำเดือนขาดหายไป การตั้งครรภ์มักเป็นสาเหตุที่พบบ่อย และเป็นสาเหตุที่คนส่วนใหญ่จะสงสัยเป็นสาเหตุแรกๆ ซึ่งหากอยู่ในวัยเจริญพันธุ์ และมีพฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์อยู่แล้วในช่วงก่อนประจำเดือนขาด อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ประจำเดือนขาด ซึ่งถือว่าไม่ใช่ความผิดปกติ สามารถตรวจเบื้องต้นได้เอง โดยใช้ที่ตรวจครรภ์ตรวจจากปัสสาวะ หรือไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจครรภ์เพื่อให้ได้ผลยืนยันชัดเจน
2. ความเครียดสะสม
ความเครียด ความวิตกกังวล อาจทำให้ประจำเดือนมาผิดปกติ ประจำเดือนอาจขาดหายไปได้ทีหลายๆ เดือน เนื่องจากความเครียดมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของการหลั่งฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการเจริญพันธุ์และการมีประจำเดือนนั่นเอง
3. น้ำหนักตัวที่สูงหรือต่ำกว่ามาตรฐาน
น้ำหนักตัวที่เพิ่มหรือลดมากเกินไป อาจทำให้เกิดอาการประจำเดือนไม่มาหรือมาไม่ปกติได้ โดยเฉพาะเมื่ออดอาหาร หรือลดน้ำหนักเร็วเกินไป อาจทำให้ไม่มีสารอาหารไปกระตุ้นการผลิตฮอร์โมนที่ทำให้ไข่ตก ส่วนคนที่มีน้ำหนักตัวมากเกินไปหรืออ้วนมาก จะทำให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนมาก ซึ่งส่งผลต่อรอบเดือน และทำให้ประจำเดือนไม่มา
4. การใช้ยาคุมกำเนิด
ผู้ที่รับประทานยาคุมกำเนิดอาจมีประจำเดือนมาน้อย มามาก มาไม่สม่ำเสมอ หรือไม่มาเลย โดยยาคุมกำเนิดชนิดที่มีฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนอย่างเดียว ยาคุมแบบฉีด หรือห่วงอนามัยชนิดที่มีฮอร์โมนอาจส่งผลให้ประจำเดือนไม่มาได้ อย่างไรก็ตาม หากหยุดใช้ยาคุมแล้ว จะกลับมามีประจำเดือนตามปกติ
5. ผลข้างเคียงจากตัวยาบางชนิด
การรับประทานยาบางตัว เช่น ยารักษาโรคซึมเศร้า ยาต้านอาการทางจิต ยารักษาโรคไทรอยด์ ยากันชัก หรือการรักษาโดยใช้เคมีบำบัด ยารักษาความดันโลหิตสูง ก็อาจส่งผลให้ประจำเดือนไม่มาหรือมาไม่ปกติได้
6. การเข้าสู่วัยทอง
วัยทองหรือวัยหมดประจำเดือนถือเป็นความเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติที่เกิดขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น มักเกิดขึ้นกับผู้ที่มีอายุระหว่าง 45-55 ปี ประจำเดือนจะเริ่มขาดเมื่อเข้าสู่วัยทอง เนื่องจากระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนเริ่มลดลง ทำให้ไข่ตกไม่สม่ำเสมอ เมื่อเลยวัยทองแล้ว รอบเดือนจะหยุดมา
ที่มา : beyondivf.com